ผัก Post-organic กับคุณค่าทางอาหารที่ไม่ขึ้นกับดิน ฟ้า อากาศ
ปัจจุบันการทำเกษตรอินทรีย์เชิงพาณิชย์อาจไม่มีอยู่จริง มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะปลูกพืชปริมาณมาก ๆ แล้วต้องดูแลเป็นเดือน ๆ ให้ได้ผลผลิตคุณภาพดี ใบสวย ๆ มีหนอนแทะเล็กน้อยพองาม ฝันไปเถอะครับ ยิ่งผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ต้องการผักที่ดูสดใส ใบกิ๊ง ๆ ไปเดินหาซื้อในซูปเปอร์เลือกแล้วเลือกอีก อันไหนสวยกว่าอันไหนนะ แล้วยิ่งอยากให้มันเก็บได้นาน ๆ อีกด้วย
มันก็ไม่ธรรมชาติหละครับ อย่ามโนไปเองว่าอยากให้มันโตตามธรรมชาติ เป็น organic แท้ ๆ ไม่อยากจะบอกว่า เอาจริง ๆ นะถ้ายังซื้อของที่คนอื่นผลิตอยู่ อย่าฝันไปเลยว่าจะไม่มีสารเคมีในกระบวนการปลูก หรือการขนส่ง คนขายเค้าก็อยากขายราคาดี ๆ ก็ต้องทำผลผลิตให้สวย ๆ มันสวยซะจนมีคนบอกว่า เกษตรกรที่ไหนเค้ากินผักที่ตัวเองปลูกกัน ผักที่ปลูกขาย เหลือให้หมูกิน หมูยังตายเลย โดยเฉพาะประเทศไทยของเราหลังจากเราทำอุตสาหกรรมการเกษตรมาหลายสิบปี การใช้ยาฆ่าแมลง ยากำจัดศัตรูพืชถูกสะสมในดินมานาน หนำซ้ำเกษตรกรก็ใช้สารเคมีต่าง ๆ อัดเต็มที่ คิดว่าใส่เยอะ ๆ ยิ่งดี สุดท้ายตัวเองต้องป่วยเพราะสารตกค้างเหล่านั้น บางคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งอันที่จริงหากศึกษาให้ดีมีความรู้วิธีการใช้ให้ถูกต้องเรื่องน่าเศร้าเหล่านี้จะไม่เกิด
แล้วที่แย่กว่านั้นคือผู้บริโภคที่ไม่มีความเข้าใจก็เหมารวมว่าสารเคมีเป็นสิ่งไม่ดี เป็นภัยต่อชีวิต โดยหารู้ไม่ว่าทุกสิ่งในโลกประกอบไปด้วยองค์ประกอบทางเคมีทั้งนั้น
แม้แต่การปลูกพืชแบบออร์แกนิค ที่ใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยพืชสด สุดท้ายมันก็ย่อยสลายโดยจุลลินทรีย์ในดิน กลายเป็นธาตุต่าง ๆ ที่พืชเอาไปใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสงต่อ
แล้วคำตอบสำหรับผู้บริโภคคืออะไรหรือ เราไม่มีทางเลือกเลยหรือว่าถ้าอยากจะทานอาหารที่มันปลอดภัยจริง ๆ ต้องปลูกเองกินเองเท่านั้นหรือ?
คำตอบของคำถามนี้คือ post-organic คำนี้น่าจะพูดถึงครั้งแรกโดย Bowery สตาร์ทอัพที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2015 ใน New Jersey อเมริกา เมืองที่เต็มไปด้วยมลพิษ และผู้บริโภคก็อยากได้ของที่เป็น organic แต่สิ่งที่บริษัทได้เรียนรู้คือ การปลูกพืชในดินเพื่อทำฟาร์มแบบออร์แกนิคเชิงพาณิชย์เป็นเรื่องที่ควบคุมยากกว่าการปลูกในระบบปิด เพราะออร์แกนิคปลูกได้แค่ตามฤดูกาล แต่มนุษย์ต้องทาน 365 วัน และมีเรื่องตลกคือ การให้การรับรอง USDA organic คือการรับรองวิธีการปลูก แต่ไม่ได้รับรองคุณค่าทางอาหารที่มีในพืช
ดังนั้นสิ่งที่ Bowery สร้างขึ้นมาคือ category ใหม่ของผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ไม่ต้องสัมผัสมลพิษในอากาศและในดิน ไม่มีเชื้อโรคและสารพิษตกค้าง เพราะปลูกในระบบปิดจึงสามารถตอบสนองความต้องการผักปลอดภัยได้อย่างสมบูรณ์แบบ และแน่นอนคือความสม่ำเสมอที่ปลูกได้ตลอดทั้งปี
ระบบอัตโนมัติต่าง ๆ ถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมมาตรฐานการปลูก และด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นจากอดีตมาก แสงเทียมจากหลอด LED สามารถใช้แทนแสงอาทิตย์ เราสามารถกำหนด spectrum ที่ต้องการเพื่อให้พืชได้ผลผลิตที่เราอยากได้ อุปกรณ์ IoT สามารถติดตามค่าข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็นได้ภายในนาทีไม่ต้องรอเป็นเดือนเหมือนแต่ก่อน และน่าจะเป็นหนทางเดียวที่ทำให้เราไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง ยากำจัดศัตรูอย่างสิ้นเชิง ที่สำคัญคือเป็นการทำเกษตรในแบบ local ไม่ต้องขนส่งจากสถานที่ไกล ๆ สามารถเก็บเกี่ยวแล้วจัดส่งขึ้นโต๊ะอาหารได้ภายใน 1 ชั่วโมงหรือไม่เกิน 1 วัน มันเปลี่ยนแปลงการเกษตรไปอีกขั้น คำถามที่น่าสนใจเมื่อมีผักที่คุณภาพสูงเทียบเท่า medical grade เรายังอยากได้ผักออร์แกนิคที่ปลูกแบบตามธรรมชาติโดยไม่รู้ว่ามีคุณค่าทางอาหารมากน้อยแค่ไหนอยู่หรือเปล่าครับ?