Pesticide test

การทดสอบวัดสารฆ่าแมลงและสารกำจัดวัชพืชในผัก
โดย ห้องปฎิบัติการกลาง (ประเทศไทย)
(15 กรกฎาคม 2565)


การทดสอบวัดสารฆ่าแมลงและสารกำจัดวัชพืชในผัก (8 สิงหาคม 2563)

ขั้นตอนการสาธิตการใช้งานมีดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 เก็บตัวอย่างผัก คือ Kale จาก noBitter

ขั้นตอนที่ 2 นำผักมาสกัดด้วยน้ำยาสกัดโดยหั่นผักและผลไม้เป็นชิ้นเล็กๆ ใส่ในขวด ใส่น้ำยาสกัดลงไป เขย่าประมาณ 2 นาที

ขั้นตอนที่ 3 นำน้ำที่สกัดออกมาได้แล้วหยดลงบนชิปขยายสัญญาณรามาน รอให้แห้ง

ขั้นตอนที่ 4 ทำการตรวจวัดด้วยเครื่องรามานแบบพกพา (Handheld)  ยี่ห้อ Rigaku

ขั้นตอนที่ 5 วิเคราะห์ผล 

ผลจากการวัดน้ำผักที่สกัดมาจากผัก Kale ด้วย Onspec SERS chip กับเครื่องรามาน แบบพกพา (Handheld) ยี่ห้อ Rigaku ดังแสดงในรูปที่ 5 จากผลที่ได้ สรุปได้ว่าในผัก Kale ตัวอย่างไม่พบยาฆ่าแมลง ทั้งชนิดคาร์บาริล และพาราควอต เพราะไม่พบพีคที่ตำแหน่ง 1380 และ 1440 cm-1 ซึ่งเป็นลักษณะพีคของคาร์บาริล (เส้นปะสีแดง) และไม่พบพีคที่ตำแหน่ง 842, 1193, 1301 และ 1650 cm-1 ซึ่งเป็นลักษณะพีคของพาราควอต (เส้นปะสีน้ำเงิน)

1.ตัวอย่างผักที่ต้องการทดสอบ
2.นำผักมาสกัดด้วยน้ำยาสกัด
3.หยดน้ำที่สกัดแล้วลงบน chips
4.ทำการทดสอบด้วยเครื่องรามาน
5. วิเคราะห์ผล

รูปที่ 5 แสดงขั้นตอนการใช้ชิปขยายสัญญาณรามาน สำหรับตรวจวัดสารเคมี และยาฆ่าแมลงตกค้างในผัก จากบริษัท noBitter ให้กับบริษัทจัดจำหน่ายเครื่องรามานยี่ห้อ Rigaku

หลักการและเหตุผลความจำเป็นในการตรวจวัดยาฆ่าแมลงและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทางการเกษตร

ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก  เนื่องจากเกษตรกรต้องการเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น มีคุณภาพ ปราศจากโรคและแมลง ตลอดจนใช้สารเร่งให้ผลผลิตออกจำหน่ายได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทางการเกษตรสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ตามชนิดของสิ่งมีชีวิตที่ใช้ในการควบคุมและกำจัดเป็นสารเคมีกำจัดแมลง สารเคมีป้องกันและกำจัดวัชพืช สารป้องกันและกำจัดโรคพืช เช่นสารเคมีกำจัดเชื้อรา และสารเคมีกำจัดหอยและปู

จากรายงานการสำรวจของสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ปี 2559 พบว่าแนวโน้มการใช้สารเคมีในทางเกษตรของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะสารกำจัดวัชพืช ดังรูปที่ 1 กราฟแสดงการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรระหว่าง พ.ศ. 2548-2558

รูปที่ 1 กราฟแสดงปริมาณการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตร (ที่มา: www.thaipan.org)

สารกำจัดวัชพืช (Herbicide) หรือ ที่เรียกโดยทั่วไปว่า ยาฆ่าหญ้า คือ สารเคมีใดๆ ก็ตามที่นำมาใช้เพื่อฆ่าทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของวัชพืช ไม่ว่าจะเป็นในขณะที่วัชพืชงอกขึ้นมาแล้วหรือยังเป็นเมล็ดอยู่ ตลอดจนชิ้นส่วนต่างๆ ของวัชพืชที่ขยายพันธุ์ได้ทั้งที่อยู่ในดินหรืออยู่บนดิน

แม้ว่าการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชจะช่วยลดต้นทุนในด้านแรงงานที่ใช้ในการผลิตลงไปได้มาก แต่การใช้ในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น หรือตัวเกษตรกรที่เป็นผู้ใช้สารเคมี ไม่ตระหนักถึงอันตราย และระมัดระวังในการใช้สารเคมี ก็มักจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายตามมา ซึ่งอาการที่บ่งบอกว่าได้รับสารเคมีปนเปื้อนมีด้วยกันหลายระดับตั้งแต่ระดับเบา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ไปจนกระทั่งระดับที่หนัก เช่น มีผลต่อระบบประสาทของร่างกาย จนถึงขั้นอันตรายต่อชีวิตได้ หรือบางชนิดก็มีการสะสมทำให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ มากมายตามมาในภายหลัง ทำให้สารกำจัดวัชพืชบางตัวเช่น พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส ได้ถูก “แบน” หรือห้ามใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 ให้ปรับสารเคมีทั้ง 3 ชนิดจากวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 กล่าวคือ ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออก และมีไว้ในครอบครอง เนื่องจากสารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้มีอันตรายต่อร่างกายและได้ถูกห้ามใช้แล้วในหลายประเทศ  ตามรายละเอียดดังนี้

1.คลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos) เป็นสารฆ่าแมลงกลุ่ม organophsphorus มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว กลิ่นแรงคล้ายกระเทียม โดยคลอร์ไพริฟอส ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท โดยจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ทำหน้าที่สลายสารสื่อประสาทอะซิคิลโคลีน ทำให้สารสื่อประสาทดังกล่าวเกิดอาการคั่งและส่งสัญญาณประสาทมากขึ้น ระบบประสาททำงานมากขึ้น เป็นพิษต่อระบบประสาท

โดยประเทศที่ห้ามใช้คลอร์ไพริฟอส เช่น สหรัฐอเมริกา แอฟริกาใต้ สิงคโปร์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เยอรมนี สวีเดน เป็นต้น

2.ไกลโฟเซต (Glyphosate) ยาฆ่าวัชพืชกลุ่ม Phosphonic acid ซึ่งสถาบันวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) ภายใต้องค์การอนามัยโลก กำหนดให้เป็นสารก่อมะเร็ง ขณะที่ศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี พบว่า อัตราการตายของผู้ป่วยในไทยอยู่ที่ร้อยละ 3 โดยพิษหลักมาจากสารส่วนประกอบที่เรียกว่า สาร Polyoxyethylene มีผลทำให้ระคายเคือง รบกวนการทำงานของผนังเซลล์ ทำให้การตอบสนองของอวัยวะต่างๆ ช้าลง และรบกวนการทำงานของยีนบางตัว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและทำให้เซลล์ตายตามมา โดยความเป็นพิษจะเกิดขึ้นกับระบบไหลเวียนโลหิตเป็นหลัก นอกจากนี้ ไกลโฟเซตยังมีข้อมูลว่า เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอีกด้วย

โดยประเทศที่มีการห้ามใช้แล้ว เช่น ออสเตรีย ฝรั่งเศส โอมาน ซาอุดิอาระเบีย เวียดนาม เป็นต้น

3.พาราควอต (Paraquat) สารฆ่าวัชพืช มีความเป็นพิษสูง เนื่องจากมีฤทธิ์กัดกร่อนมาก ไม่มียาต้านพิษ โดยข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี พบว่า อัตราตายของผู้ป่วยจากสารพาราควอตในประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 10.2 ถือว่ามีความเสี่ยงเกินกว่าจะนำมาใช้อย่างปลอดภัย โดยอันตรายของพาราควอต สามารถรับได้ผ่านทั้งการกิน การสัมผัสทางผิวหนัง ซึ่งเป็นช่องทางหลัก ส่วนทางเดินหายใจเป็นช่องทางรอง

นอกจากนี้ การสัมผัสทางผิวหนังในระดับต่ำ อาจมีการสะสมในกล้ามเนื้อ และค่อยๆ ปล่อยออกมาสู่กระแสเลือด ขณะเดียวกัน พาราควอตยังมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน เนื่องจากพาราควอตทำให้เกิดการสร้าง metallothionein เพิ่มขึ้น ทำให้เซลล์ระบบภูมิคุ้มกันทำหน้าที่ได้น้อยลง สำหรับอาการหลังรับสารพาราควอต ขึ้นกับช่องทางได้รับ หากรับทางการหายใจ  ทำให้ระคายเคืองเยื่อบุโพรงจมูก เลือดกำเดาไหล หากรับผ่านการกิน ทำให้มีแผลไหม้ในช่องปาก ระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ความอยากอาหารลดลง ปวดท้อง คอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ปวดหัว มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย หายใจสั้นๆ หัวใจเต้นเร็ว

โดยขณะนี้มี 56 ประเทศที่ประกาศห้ามใช้แล้ว เช่น อังกฤษ สวีเดน สเปน แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งมาเลเซีย กัมพูชา ลาว เวียดนาม มีแค่ไทยที่ยังไม่ยกเลิกใช้ ส่วนประเทศที่จำกัดการใช้มี 7 ประเทศ